การรักษาความสดใหม่ของ Hearthstone

การรักษาความสดใหม่ของ Hearthstone

เมื่อปีแห่งคราเคนใกล้เข้ามา ก็ถึงเวลาที่เราจะมาเปิดเผยผลการปรับแก้การ์ดพื้นฐานและการ์ดคลาสสิคของเราแล้ว เราโฟกัสไปที่การแก้ไขการ์ดพื้นฐานและการ์ดคลาสสิค เพราะชุดการ์ดเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำหรับกฎทั้งสองในปีถัดๆ ไป เราคิดพิจารณากันอย่างหนักเพื่อให้ได้ข้อสรุปนี้ แต่ด้วยข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์และการอ่านความคิดเห็นจากคอมมูนิตี้จำนวนมาก เราก็เชื่อว่าเราได้เลือกการ์ดที่จะปรับแก้อย่างเหมาะสมแล้ว


แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่คุณกำลังจะเห็นต่อจากนี้ก็คือ การ์ดใหม่ที่ปล่อยออกมาควรส่งผลให้เกมมาตรฐานเปลี่ยนไปและทำให้เกมอิสระสนุกยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่า Hearthstone จะมีความหลากหลาย สดใหม่ และสนุกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ด้านล่าง!


การ์ดของดรูอิด

เด็คดรูอิดที่ได้รับความนิยมมักจะประกอบด้วยการ์ดดรูอิดจำนวนหนึ่งที่ทุกเด็คมีเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการจัดเด็ค และสร้างความรู้สึกว่าดรูอิดนั้นซ้ำซาก เราอยากเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับเด็คดรูอิด ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนการ์ดบางใบที่เป็นตัวการ


แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากชี้ให้คุณเห็นคือ โดยทั่วไปแล้วเราชอบที่แต่ละคลาสใน Hearthstone มีการ์ดที่เป็นซิกเนเจอร์ เพราะจะช่วยมอบเอกลักษณ์ให้กับเด็คของแต่ละคลาส และเราก็เห็นว่าเด็คดรูอิดควรจะมีการ์ดที่เป็นซิกเนเจอร์เช่นกัน การ์ดอย่าง "กระตุ้น" (Innervate) และ "ผืนป่างอกงาม" (Wild Growth) คือเอกลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งของดรูอิด เราจึงเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงการ์ดเหล่านี้

บรรพชนแห่งความรู้ (Ancient of Lore) 

การจั่วการ์ดช่วยสร้างความได้เปรียบอย่างมากใน Hearthstone และทำให้บรรพชนแห่งความรู้กลายเป็นการ์ดที่เด็คดรูอิดยอดนิยมทุกเด็คต้องมีไว้
เราอยากให้ผู้เล่นดรูอิดรู้สึกว่ามีการ์ดใบอื่นที่น่าใช้ไม่แพ้บรรพชนแห่งความรู้ เราเลยลดจำนวนของการ์ดที่จั่วได้ลงจาก 2 ใบเป็น 1 ใบ

พลังธรรมชาติ (Force of Nature)

พลังธรรมชาติเวอร์ชั่นใหม่มีค่าร่ายลดลง 1 แต่ทรีแอนท์ที่เรียกออกมาจะไม่มีความสามารถบุกทะลวงและอยู่ในสนามอย่างถาวร เช่นเดียวกับทรีแอนท์ที่เรียกโดยใช้การ์ดอื่นๆ ของดรูอิด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การเล่นคอมโบที่ทรงพลังในเทิร์นเดียวด้วย "พลังธรรมชาติ" และ "คำรามดุดัน" (Savage Roar)
ใช้ไม่ได้อีกต่อไป คราวนี้ฝ่ายตรงข้ามจะมีโอกาสรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากทรีแอนท์เหล่านั้น และจะไม่สร้างความรู้สึกว่าคอมโบนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกต่อไป

ผู้พิทักษ์ผืนป่า (Keeper of the Grove) 

ผู้พิทักษ์ผืนป่าเป็นมินเนี่ยนที่แข็งแกร่งและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยมีทั้งการผนึกความสามารถและค่าพลังที่ดีรวมอยู่ในใบเดียว จึงทำให้เด็คดรูอิดแทบทุกเด็คต้องมีการ์ดใบนี้โดยอัตโนมัติ การจะใส่การ์ดผนึกความสามารถไว้ในเด็คหรือไม่นั้นควรต้องอาศัยการตัดสินใจในระดับหนึ่ง ดังนั้นผู้พิทักษ์ผืนป่าจึงไม่ควรเป็นตัวเลือกโดยอัตโนมัติสำหรับเด็คดรูอิด ซึ่งนั่นทำให้ค่าพลังของการ์ดถูกเปลี่ยนจาก 2/4 เป็น 2/2  

การผนึกความสามารถและการรีมูฟ
เมื่อพูดถึงผู้พิทักษ์ผืนป่า การผนึกความสามารถและการรีมูฟมินเนี่ยนถือว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่มีประสิทธิภาพอย่างมากใน Hearthstone ปัจจุบันนี้ตัวเลือกในการรีมูฟส่วนหนึ่งถูกใช้เล่นอย่างแพร่หลายเกินไป หรือเป็นความสามารถของมินเนี่ยนที่มีพลังคุ้มค่าร่าย หรือไม่ก็ทรงพลังเกินไป แม้ว่าการรีมูฟจะเป็นส่วนสำคัญของ Hearthstone แต่นั่นก็ทำให้การเล่นมินเนี่ยนระดับสูงที่ดูน่าตื่นเต้นมีผลตอบแทนลดลงด้วย เราปรับเปลี่ยนการ์ดบางใบเพื่อให้การตัดสินใจใส่การ์ดเหล่านี้ลงในเด็คมาพร้อมกับราคาที่ต้องแลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่สามารถเลือกเป้าหมายที่เหมาะสมในการรีมูฟได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะช่วยให้การ์ดที่มีพลังโจมตีสูงหรือมีเอฟเฟกต์เจ๋งๆ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย

นกฮูกปากเหล็ก (Ironbeak Owl) 
นกฮูกปากเหล็กเป็นการ์ดผนึกความสามารถค่าร่ายต่ำที่หลายคนเลือกใช้เป็นประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเราที่อยากจะให้การผนึกความสามารถใช้งานได้ยากขึ้น นกฮูกปากเหล็กจึงมีค่าร่ายเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 3 มานา

นักล่าสัตว์ใหญ่ (Big Game Hunter) 
นักล่าสัตว์ใหญ่เป็นตัวแทนของเอฟเฟกต์รีมูฟค่าร่ายต่ำที่อยู่ในรูปของการ์ดมินเนี่ยน ประสิทธิภาพของการ์ดใบนี้สูงมากจนแม้แต่ฮีโร่ที่มีการ์ดรีมูฟประจำคลาสก็ยังเลือกใช้นักล่าสัตว์ใหญ่ซึ่งเป็นกลาง เราจึงเพิ่มค่าร่ายของการ์ดใบนี้จาก 3 เป็น 5 มานา

สัญลักษณ์แห่งนักล่า (Hunter’s Mark)
สัญลักษณ์แห่งนักล่าเป็นตัวเลือกที่สำคัญสำหรับฮันเตอร์ แต่ค่าร่าย 0 มานาทำให้มันมีประสิทธิภาพมากเกินไป เราจึงเพิ่มค่าร่ายของมันขึ้นเป็น 1

พายุใบมีด (Blade Flurry) 
พายุใบมีดคือตัวปัญหา เพราะการ์ดใบนี้ทั้งเคลียร์บอร์ดและสร้างความเสียหายจำนวนมากได้อย่างฉับพลัน และยังทำให้โร้กมองไม่เห็นตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าสำหรับนำมาใช้ในเด็ค เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เราจึงเพิ่มค่าร่ายของพายุใบมีดขึ้นจาก 2 เป็น 4 มานา และต่อจากนี้ไปการ์ดนี้จะส่งผลกับมินเนี่ยนเท่านั้น เพื่อบังคับให้โร้กต้องเลือกระหว่างการกำจัดมินเนี่ยนหรือการสร้างความเสียหายให้กับฮีโร่ฝ่ายตรงข้าม

มินเนี่ยนเป็นกลางที่ทรงพลัง
การ์ดเป็นกลางที่ทรงพลังและมีการใช้เล่นกันอย่างแพร่หลายอาจปิดกั้นทางเลือกในการสร้างเด็ค และทำให้เด็คของทุกคนมีการ์ดเหมือนกันไปหมด นอกจากนี้ยังทำให้การออกแบบการ์ดใหม่ที่สามารถแข่งขันกับพวกมันได้กลายเป็นเรื่องยากขึ้นด้วย เราจึงได้ปรับเปลี่ยนการ์ดเป็นกลางเหล่านี้เพื่อให้การ์ดอื่นๆ กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้เอกลักษณ์ของแต่ละคลาสเป็นตัวกำหนดความแข็งแกร่งของเด็คมากขึ้น

นักมายากลมือมีด (Knife Juggler)
นักมายากลมือมีดควรจะเป็นตัวเลือกสำหรับเด็คที่เล่นมินเนี่ยนค่าร่ายต่ำจำนวนมาก แต่ด้วยพลังโจมตีถึง 3 แต้ม มันจึงกลายเป็นการ์ดที่แทบทุกเด็คต้องมีไว้

เราลดพลังโจมตีของนักมายากลมือมีดลงจาก 3 เหลือ 2 แต้ม เพื่อให้การ์ดใบนี้เหมาะสำหรับเด็คที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเอฟเฟกต์ของมันจริงๆ แทนที่จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับมินเนี่ยนค่าร่าย 2 มานา

โนมขี้เรื้อน (Leper Gnome) 
โนมขี้เรื้อนมีพลังโจมตีสูงเมื่อเทียบกับค่าร่าย ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของเด็คเชิงรุกเกือบทุกเด็ค และมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากการ์ดใบอื่นในเด็ค เราอยากทำให้มินเนี่ยนค่าร่าย 1 ตัวอื่นๆ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เราจึงลดพลังโจมตีของการ์ดใบนี้ลงจาก 2 เหลือ 1 แต้ม

โกเล็มอาคม (Arcane Golem)
เราพบว่าเราไม่ควรมอบความสามารถบุกทะลวงให้การ์ดจำนวนมากเกินไป โกเล็มอาคมเป็นมินเนี่ยนตัวหลักที่เด็คเชิงรุกและเด็คคอมโบ "วันเทิร์นคิล" จำนวนมากใช้กัน และข้อเสียของมันแทบจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย เราจึงจัดการกับปัญหาทั้งสองนี้พร้อมกันด้วยการเอาความสามารถบุกทะลวงออกไป และเพิ่มพลังชีวิตของโกเล็มอาคมให้สูงขึ้น โดยยังคงข้อเสียของมันเอาไว้เหมือนเดิม ตอนนี้โกเล็มอาคมจะเป็นมินเนี่ยน 4/4 ค่าร่าย 3 มานาที่มีความสามารถ "คำรามสู้ศึก: มอบคริสตัลมานาให้ฝ่ายตรงข้ามหนึ่งอัน"

ยักษ์ลาวา (Molten Giant)
ยักษ์ลาวาเป็นการ์ดที่น่าสนใจ แต่ผู้เล่นสามารถลดค่าร่ายของมันให้เหลือ 0 มานาได้ง่ายเกินไป เราเพิ่มค่าร่ายของยักษ์ลาวาขึ้นไปเป็น 25 เพื่อให้ผู้เล่นต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถ้าอยากจะส่งยักษ์ลงสนามแบบฟรีๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพลังธรรมชาติและโกเล็มอาคมส่งผลให้การมีพลังชีวิตเหลือน้อยมีความเสี่ยงลดลง ซึ่งนั่นมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับการ์ดใบนี้ด้วย

เจ้าแห่งการปลอมตัว (Master of Disguise)
ความสามารถของเจ้าแห่งการปลอมตัวที่มอบ "ซ่อนตัว" ให้มินเนี่ยนอย่างถาวรเป็นอุปสรรคในการออกแบบการ์ดมาอย่างยาวนาน เราเลยจะเปลี่ยนให้การซ่อนตัวจากความสามารถนี้มีผลจนถึงเทิร์นถัดไปเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเปิดทางให้กับตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจสำหรับการ์ดในอนาคตด้วย


ขอบคุณที่อ่านรายละเอียดการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการ์ดเหล่านี้ของเราจนจบ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของ Hearthstone แพตช์ 5.0 แล้วอย่าลืมร่วมฉลองการมาถึงของ Whispers of the Old Gods ส่วนเสริมใหม่ของ Hearthstone รวมถึงกฎมาตรฐานและกฎอิสระ ตลอดจนการเริ่มต้นของปีแห่งคราเคนในวันที่ 26 เมษายนนี้ด้วย! 



เข้าร่วมการสนทนา!
0 ข้อคิดเห็น